มูลนิธิธรรมรักษ์

พระราชวิสุทธิประชานาถ
เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ

มูลนิธิธรรมรักษ์ แห่งนี้เริ่มต้นรับรักษาและฟักฟื้นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การดำเนินการเกี่ยวกับโรคเอดส์มีสองส่วน ส่วนแรกคือรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยโรคเอดส์ทั่วไปจากทั่วประเทศ ส่วนที่สองคือการรับอุปการะเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบโรคเอดส์จากบิดามารดา ทั้งสองส่วนอยู่ในการดูแลของวัดประมาณ 2,000 คน ในแต่ละเดือนวัดจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอาหาร ยารักษาโรค ค่าบริหารจัดการภายในวัด และค่าเผาศพ ปัจจุบันได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเดือนละ 100,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ส่วนยาต้านไวรัสเอดส์และอาสาสมัครได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

มูลนิธิธรรมรักษ์ และ เครือข่ายวัดพระบาทน้ำพุ :

วัดพระบาทน้ำพุ

    โครงการเมตตาธรรม ค้ำจุนโลก มีลักษณะของโครงการเป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้รับผิดชอบ คือ คณะสงฆ์จังหวัดลพบุรีและมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ วัดพระบาทน้ำพุ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี 15000

สภาพปัญหา

    โรคเอดส์ได้เข้ามาเผยแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปี ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่อาจประเมินได้ และที่สำคัญคือปัญหาทางสังคมที่เกิดการรังเกียจ ทอดทิ้ง ไม่ยอมรับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยให้อยู่ร่วมกันในสังคม และยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และ ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองได้รับเชื้อ จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่บุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเอดส์ไม่เพียงพอ ประชากรไทยจึงขาดความตระหนักในการป้องกันตน โดยเฉพาะเยาวชนนักเรียน นักศึกษา ได้มีการติดเชื้อโรคเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงถึง 35% ของผู้ติดเชื้อโรคเอดส์รายใหม่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาวิกฤติในปัจจุบัน

หลักการและเหตุผล

    โรคเอดส์ได้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน โดยที่การแพร่ระบาดยังไม่สามารถที่จะควบคุมได้ แม้ทางรัฐจะได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหา แต่การประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเอดส์ลดน้อยลง ทำให้ประชากรขาดความตระหนักในการป้องกันตนเองมากขึ้น ผู้ติดเชื้อนั้นเกิดจากการมีพฤติกรรมเสียง เช่น การเสพสิ่งมึนเมา, การเที่ยวหญิงบริการ, ยาเสพติด เป็นต้น
    ด้วยเหตุผลดังกล่าว หลักการในการแก้ปัญหาจึงควรที่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการขาดความตระหนักในศีลธรรม โดยเร่งส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ถึงโทษภัยของโรคเอดส์ว่าเกิดจากพฤติกรรมที่ขาด ความตระหนักในศีลธรรม ซึ่งบทบาทดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องให้การอบรมสั่งสอนประชาชนทั้งประเทศอย่างจริงจัง

วัตถุประสงค์

  • เพื่อส่งเสริมบทบาทของคณะสงฆ์ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางสังคม
  • เพื่อลดอัตราการติดเชื้อโรคเอดส์ของประชากรไทย
  • เพื่อสร้างความมีเมตตาในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในสังคมอย่างปกติ
  • เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกองค์กรร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์
  • เพื่อสร้างแบบอย่างในการแก้ไขปัญหา โดยใช้แนวทางของพระพุทธศาสนา
  • ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันโรคเอดส์มากขึ้น
  • จำนวนผู้ที่ติดเชื้อโรคเอดส์รายใหม่ลดลง
  • สังคมและครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้มากขึ้น
  • องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์มากขึ้น
  • สังคมให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์มากขึ้น
  • พระสงฆ์มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
  • ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้นในสายตาของชาวต่างประเทศ
  • ปัญหาและอุปสรรค

  • การขาดความร่วมมือและงบประมาณที่เพียงพอจากภาครัฐ
  • การไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาโรคเอดส์ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่าวต่อเนื่อง
  • การต่อต้านจากบุคคลที่มีเจตนคติเป็นลบต่อผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเอดส์
  • การต่อต้านจากกลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ
  • อื่น ๆ